ไอริชคอฟฟี่ (Irish Coffee) คือ การเสิร์ฟกาแฟผสมด้วย เหล้ารัม บรั่นดี วิสกี้ หรือจะเป็นเตกิลาก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นการทำผิดใด ๆ สามารถเลือกชนิดของเหล้าได้ ในธุรกิจเครื่องดื่มในหลาย ๆ ประเทศ ก็มีค็อกเทลสไลต์ของตัวเองมานาน ย้อนไปนานกว่าศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นประเทศ อิตาลี สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส รัสเซีย ออสเตรเลีย ประเทศแถบแสกนดิเนเวีย หรือประเทศในทวีปอเมริกา อย่างคิวบา และเม็กซิโก อื่น ๆ อีกมากมาย และประเทศไอร์แลนด์ก็เช่นกัน 

ไอร์เเลนด์ ดินแดนต้นกำเนิดเมนูกาแฟสไตล์ใหม่ กาแฟผสมเหล้าเติมครีมข้นสีขาวนวล ลอยตัวอยู่เหนือกาแฟ ส่งกลิ่้นหอม มีเอกลักษณ์ ลอยมาเตะจมูก รสชาติเข้มข้นถูกใจคอกาแฟ ที่ชอบกาแฟรสชาติแบบเข้มข้น ชวนหลงใหล ทำให้อยากลิ้มลอง เรียกเมนูนี้กันติดปากกันไปทั่วโลก เรียกว่า ไอริชคอฟฟี

ไอริชคอฟฟี่ เมนูกาแฟผสมเหล้า คล้ายค็อกเทล

เมนูกาแฟผสมเหล้าเล็กน้อย เพียงแค่ไม่กี่ออนซ์นี้ ไม่ใช่เหล้ากลิ่นกาแฟแบบคาลัว ซึ่งนั่นถือว่าเป็นเหล้าชนิดหนึ่ง หรือเบียร์ดำ ที่ทำจากมอลต์ไปคั่วไฟจนกลายเป็นสีเข้ม รสชาติคล้ายโกโก้ และกาแฟ ซึ่งนั่นไม่ใส่สูตรกาแฟเติมค็อกเทลอย่าง ไอริชคอฟฟี

อย่างที่ได้เกริ่นมาข้างต้น เมนูกาแฟผสมเหล้านี้ มีมานานแล้ว เริ่มต้นกันที่ แคว้นกาซิเลีย ประเทศสเปน มีเมนูเครื่องดื่มดั้งเดิมสไตล์นี้ขึ้นมา ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก จนแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของแคว้น Carajillo ซึ่งจริง ๆ แล้ว เครื่องดื่มชนิดนี้ เกิดขึ้นในประเทศคิวบา ตั้งแต่ที่ยังเป็นอาณานิคมของประเทศสเปนเมื่อหลายร้อยปีก่อน ส่วนผสมหลัก ๆ ของเมนูนี้ ก็คือ กาแฟร้อนแบบเข้มข้น น้ำตาลทราย ผสมกับเหล้าดีกรีแรง เช่น เหล้ารัมสเปน โอรูโฆ่ หรือจะใช้เป็นเตกิลาก็ได้

นอกจากประเทศสเปนจะเป็นดินแดนกระทิงดุแล้ว เมนูกาแฟค็อกเทลนี้ ก็ยังนิยมดื่มกันอย่างแพร่หลายในประเทศคิวบา และเม็กซิโก จนมาถึงปัจจุบันนี้ ใช้เอสเพรสโซเป็นกาแฟหลัก

เมนูกาแฟผสมเหล้านี้ มีที่มาจากไหนกันนะ

ในประเทศอิตาลี ก็มีเมนูลักษณะคล้าย ๆ กัน เรียกกันว่า Caffe Corretto แต่ใช้เหล้าพื้นเมืองเป็นตัวชูโรงของเมนูนี้ เช่น เหล้าโป๊ยกั๊กซัมบูก้า หรือบางสูตรเหล้ากลั่นทำจากกากองุ่นที่ใช้ทำไวน์อย่างแกร็ปป้า ก็ใช้จนระยะหลัง ๆ ก็เริ่มมีการใช้บรั่นดี เข้ามาแทน ในบางพื้นที่จะเรียกกันอีกชื่อว่า Espresso Corretto

สุรา ชา และกาแฟ เป็นมากกว่าเครื่องดื่มดับกระหาย หรือสร้างความสุข รื่นรมณ์ บันเทิงใจ แต่ที่จริงแล้ว นี่คือหนึ่งในวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน เป็นสิ่งที่บ่งบอกวิถีชีวิตของคนเหล่านั้น

แต่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มที่ผสมผสานระหว่างกาแฟ และเหล้าที่ลงตัวที่สุด ได้รับความนิยมมากที่สุด และเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในโลก ก็คงไม่พ้น ไอริชคอฟฟี เมนูกาแฟค็อกเทลจากแอตแลนติก ประกอบไปด้วย กาแฟร้อน วิสกี้ไอริช และน้ำตาล มีฟองครีมสีขาวนวลข้นลอยคลุมอยู่ข้างบนกาแฟ

ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เมนูกาแฟ ผสมค็อกเทลเมนูแรกของโลก แต่ก็โด่งดังเป็นที่รู้จักที่สุด เป็นเครื่องดื่มที่มีครีมฟองคลาสสิก ลอยอยู่ข้างบน ตัดกับสีน้ำตาลเข้มของกาแฟที่มีวิสกี้ผสม อยู่ด้านล่าง เวลาที่เราจิบกาแฟฟองครีมหนานุ่ม นี่แหละ ถือว่าเป็นจุดเด่นของกาแฟเมนูนี้ รสชาติของกาแฟที่เข้มข้น เหล้าที่มีเอกลักษณ์ และครีมนวล ๆ 

นอกจากเบียร์ดำกินเนสของไอร์เเลนด์ ก็มี ไอริชคอฟฟี นี่แหละ ที่เป็นเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงของประเทศไอร์แลนด์ ประเทศที่เต็มไอด้วยเรื่องราวที่ยาวนาน มีวัฒนธรรม และมรดกตกทอดมาอย่างมากมาย เป็นดินแดนที่มีปราสาทเก่าแก่ ลึกลับ และทิวเขาสีเขียวชะอุ่ม ทอดยาวไปจนสุดสายตา จนไม่แปลกใจกันเลยว่า ทำไมประเทศไอร์แลนด์ ถึงได้รับสมญานามว่า เกาะมรกตแห่งยุโรป แม้ว่าจะเป็นจุดกำเนิดของเมนูกาแฟผสมเหล้าที่มีชื่อเสียง แต่ก็เป็นดินแดนที่สหรัฐอเมริกา ได้ช่วยให้ชื่อเสียงขจรขจายไกลไปทั่วโลก

เรื่องเล่าของไอริชคอฟฟี่

ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ที่เครื่องดื่มหลาย ๆ เมนูจะมีตำนาน หรือเรื่องเล่าอยู่หลายเรื่องด้วยกัน สำหรับไอริชคอฟฟี ก็หนีไม่พ้นเช่นเดียวกัน แต่ข้อมูลที่เชื่อถือได้มากที่สุด ก็ยกให้เป็นการสร้างสรรค์ของชาวไอริช ชื่อว่า โจ เชอริแดน หัวหน้าของเชฟ ร้านอาหารประจำอาคารผู้โดยสาร ที่มีชื่อว่า ฟอยส์ ฟลายอิ้ง โบ๊ท ของสนามบินฟอยส์ ในเมืองเคาน์ตี้ ลิเมอริค เมืองที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของดับลิน เมืองหลวงของประเทศไอร์แลนด์ เรื่องราวนี้ย้อนไปเมื่อ 70 ถึง 80 ปีก่อน หรือประมาณต้นทศวรรษ 1940

ซึ่งเล่ากันต่อมาว่า ในวันหนึ่ง ท่ามกลางค่ำคืนที่หนาวเหน็บของเหมันต์ฤดู ปี 1943 เที่ยวบินของสายการบินแพนแอม จากไอร์แลนด์ไปถึงนิวยอร์ก ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ว่ากัปตันต้องหันหัวเครื่องบินกลับฟอยส์ เพราะสภาพอากาศที่เลวร้าย นานหลายชั่วโมง ผู้โดยสายทั้งหมดเป็นชาวอเมริกันที่ไปอยู่กันรอกันที่เทอร์มินัล มีสภาพที่อ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย และหนาวเหน็ยขากสภาพอากาศ ต้องการเครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายอุ่น และมีความตื่นตัว

ในตอนนั้นเอง โจ เชอริแดน ซึ่งกำลังคุมงานที่ร้านกาแฟของเทอร์มินัลนี้ ก็พยายามคิดวิธีช่วยเหลือผู้โดยสารเหล่านั้น จึงได้เติมวิสกี้ลงไปในกาแฟร้อน เติมน้ำตาลเล็กน้อย และใส่ครีมลงไป เพื่อให้ถูกปากชาวอเมริกัน เมื่อเครื่องดื่มนี้ถูกเสิร์ฟให้ผู้โดยสาร ก็ถูกถามว่า นี่เป็นกาแฟจากบราซิลหรือ ? เชอริแดนก็ได้ตอบว่า ไม่ใช่ นี่คือ ไอริช คอฟฟี่

บังเอิญว่าผู้โดยสารคนหนึ่ง ได้ติดใจรสชาติของกาแฟร้อยผสมวิสกี้นี้ เขาเป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวประจำหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโก โครนิเคิล ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศ อเมริกา ผู้ที่ได้รับรางวัลพูลิเซอร์ในปี 1942 ชื่อว่า สแตนตัน เดลาเพลน แน่นอนเลยว่า เมื่อเขาเดินทางกลับ เขาก็ได้นำสูตรกาแฟนี้กลับไปยังซานฟรานซิสโกด้วย และก็บ่อยครั้งเลย ที่เขาเอ่ยถึงกาแฟไอริชรสชาติเข้มข้น ในคอลัมน์ที่เขาเขียนบ่อย ๆ 

ต่อมา เดลาเพลน ก็ได้ไปปรึกษากับ เเจ็ค โคเพลอร์ เจ้าของร้านกาแฟในซานฟรานซิสโก ชื่อ Buena Vista Cafe เพื่อลองทำเมนูกาแฟผสมเหล้านี้ ให้มีรสชาติ และกลิ่นที่เหมือนกับเขาได้ดื่มที่ไอร์แลนด์ในคืนนั้น ทั้งสองคนได้ช่วยกันทำ และชิมกาแฟกันทั้งคืน ใช้กาแฟดำจากเครื่องดริปออโต้เป็นส่วนผสมหลัก ลองกับวิสกี้หลากหลายชนิด แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ไปติดปัญหาใหญ่ ซึ่งก็คือ ฟองครีมที่ทำขึ้นไม่ยอมจับตัวข้น เป็นชั้นอยู่ลอยอยู่บนกาแฟ แต่กลับร่วงลงไปอยู่ก้นแก้ว

จนท้ายที่สุดแล้ว โคเพลอร์ ก็หมกมุ่นอยู่กับค้นหา และทำไอริชคอฟฟีที่สมบูรณ์แบบ จนถึงขั้นต้องบินไปยังแหล่งต้นกำเนิดดั้งเดิมของกาแฟเมนูนี้ จนกระทั่ง 10 ปีต่อมา เพื่อเจอกับ โจ เชอริแดน เจ้าของร้าน Buena Vista Cafe ได้เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อมาขอความช่วยเหลือในการทำเมนูกาแฟนี้ ให้กลายเป็นเมนูเด่นของร้าน เมื่อเห็นแบบนั้น เชอริแดน ก็ใจดีและรับปากช่วยเขา และเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาด้วย และมีบางข้อมูลบอกว่า เชฟชาวไอริชคนนี้ ได้เข้าทำงานที่คาเฟ่นี้อีกด้วย

เมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องครีมได้ เพราะเชอริแดน และการได้รับความช่วยเหลือจากนายกเทศมนตรีนครซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นเจ้าของร้านผลิตภัณฑ์ทำจากนม ซึ่งเคล็ดลับก็คือ ทิ้งครีมไว้ 48 ชั่วโมง เนื้อครีมที่ได้จะข้น เนียนนุ่ม อยู่ตัว ไม่ละลายหายไปเร็ว

ในเดือนพฤศจิกายน 1952 ไอริชคอฟฟี แก้วแรกของร้าน Buena Vista Cafe ก็ได้ถูกเสิร์ฟให้ลูกค้า โดยที่มี สแตนตัน เดลาเพลน เขียนชื่นชม และเชียร์อยู่ในคอลัมน์ท่องเที่ยวเดินทางของเขาไม่ขาด แน่นอนว่าเรื่องนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วแคลิฟอร์เนีย ใช้เวลาเพียงไม่นาน ร้านกาแฟร้านนี้ ก็ได้ต้อนรับลูกค้าจำนวนมาก ที่ต้องการลิ้มรสชิมกาแฟผสมเหล้าจากประเทศไอร์แลนด์

จากร้านกาแฟธรรมดา ๆ ที่ไม่มีอะไรโดดเด่น ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1916 แต่ด้วยความตั้งใจ และความพยายาม เจ้าของร้านผู้ที่อยากทำกาแฟดี ๆ แบบสุดตัว ก็ทำให้ Buena Vista Cafe กลายมาเป็นร้านที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็วในอเมริกา 

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องราวของ ไอริชคอฟฟี

ถึงแม้ว่า เรื่องต้นกำเนิดของกาแฟไอริช ที่สนามบินฟอยส์ จะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างแต่ก็มีข้อกังขาขึ้นมา อย่างน้อย ๆ ก็ 2 ประเด็น จาก เอริค เฟลเท็น อดีตคอลัมน์นิสต์สายเครื่องดื่ม จากหนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล

ประเด็นแรกก็คือ ใช่ โจ เชอริแดน หรือไม่ที่เป็นคนทำกาแฟไอริช เป็นคนแรก มีความเป็นไปได้ว่า ไอริชคอฟฟี่นี้ถูกคิดค้นในปี 1940 ในผับชื่อว่า Dolphin ในดับลิน ซึ่งอ้างจากศาสตราจารย์ไอริชศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

มีข้อโต้แย้งที่ว่า น้ำตาล และครีม มีการเพิ่มเข้าไปแต่งเติมรสชาติของกาแฟในช่วงระหว่างสงครมโลกครั้งที่ 2 ซึ่งดูแล้ว จะมีเหตุผลมากกว่า ว่าช่วยทำให้ร่างกายผู้โดยสารอบอุ่นจากอากาศอันหนาวเหน็บ

ประเด็นที่สอง คือ นักเขียน เดลาเพลน ไม่ใช่นักเดินทางคนแรก ที่ได้นำกาแฟไอริชมายังสหรัฐอเมริกา จากหลักฐานที่ว่า กาแฟผสมเหล้า ได้เกิดขึ้นในนิวยอร์ค เมื่อ 4 ปีก่อนที่จะมีการเปิดขายกาแฟเมนูนี้ที่ร้าน Buena Vista Cafe ด้วยคอลัมน์หนึ่งในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค เฮรัลด์ ทรีบูน ปี 1948 เคยมีการได้กล่าวถึงกาแฟไอริช ซึ่งมันค่อนข้างชัดเจนเลยว่า สูตรที่ร้าน Buena Vista Cafe น่าจะเกิดขึ้นทีหลัง

แต่สิ่งที่ เฟลเท็น ก็ต้องยอมรับก็คือ Buena Vista Cafe และเดลาเเพนลน ทำให้ไอริชคอฟฟี่ ได้เป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้นแล้วในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เคยเป็นที่ตั้งของสนามบินฟอยส์ ได้จัดเทศกาล Irish Coffee Festival ขึ้นมาเป็นประจำในทุก ๆ ปี แต่สนามบินฟอยส์นั้น ได้ถูกปิดตัวลงไปแล้ว เพราะมีสนามบินแห่งใหม่ แต่ก็ไม่ได้มีการทุบทำลายทิ้งไป จึงได้มีการนำมาสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์การบิน ในปี 1989 ใช้เป็นอาคารจัดแสดงเรื่องราวของอดีตสนามบินแห่งนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *